เจตนาของการแบ่งประเภท โดรน และการบังคับใช้ For Fun or For Work

มาต่อกับ ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์การขออนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน ประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก พ.ศ. ๒๕๕๘   ที่มา http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/D/086/6.PDF

ประกาศฉบับนี้ ได้แบ่งประเภท ของ UAV เหล่านี้ เป็น 2 ประเภทหลัก  ตามเจตนาการใช้ คล้ายๆ กับ FAA Rule ที่ผมกล่าวไว้ใน https://www.facebook.com/skycop191/posts/1637337829929929 นี้ครับ คือ For Fun และ For Work/Business

ของเรา ประเภทที่ 1 ถูกแบ่งออก เป็น 2 ข้อย่อย คือ ก และ ข โดยแบ่งตามน้ำหนัก ประเภท 1(ก) น้ำหนักไม่เกิน  2 กิโลกรัม และ 1 ข น้ำหนัก 2 - 25 กิโลกรัม     ประเภทที่ 1 ใช้ใน งานอดิเรก  เพื่อความบันเทิง  หรือเพื่อการกีฬา   หรือ FOR FUN ตามกฏสากลนั่นเอง

ประเภทที่   2 น้ำหนักไม่เกิน 25 กิโลกรัม แบ่งเป็น 4 ข้อย่อย โดยการแบ่งตามการใช้งาน คือ ก. ใช้การรายงานเหตุการณ์ การจราจร (สื่อมวลชน) ข. เพื่อถ่ายภาพ ถ่ายทำ หรือการแสดงภาพยนต์ หรือรายการโทรทัศน์  ค.เพื่อการวิจัยและพัฒนาอากาศยาน ง. เพื่อการอื่นๆ       นั่นก็คือ ประเภท For Work/Business ตามกฏหมายสากลเช่นกัน

ประเด็นที่ถกเถียงกัน คือ เครื่องบินติดกล้อง ขนาดไม่เกิน 2 กก. ถูกจัดเป็นประเภทอะไร?
ถ้าจัดเป็นประเภท 1(ก)  ต้องขึ้นทะเบียนและมีประกันหรือไม่ :   คำตอบ:ตามประกาศดังกล่าว ประเภท ๑(ก) ไม่ต้องขึ้นทะเบียนและทำประกัน เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมอนุญาตให้บังคับหรือปล่อยอากาศยาน ไว้ตามข้อ 5 ในประกาศฉบับนี้แล้ว แต่ต้องทำตามกฏในข้อ 5 ทั้งหมด

ถ้าจัดเป็นประเภท  2 (ข) เพื่อการถ่ายภาพ ถ่ายทำ หรือการแสดงภาพยนต์หรือรายการโทรทัศน์ ต้อง ปฏิบัติตาม ข้อ 12 คือต้อง ขึ้นทะเบียน และ มีประกัน วงเงิน 1 ล้าน 

เครื่องบินติดกล้อง ขนาดไม่เกิน 2 กก. ถ้าใช้ในงานอดิเรกฯ หรือ For Fun  ตามเจตนาของกฏที่ออกมา ก็ต้องถูกจัดเป็นประเภท 1(ก)    ยกตัวอย่าง เครื่องบิน FPV 250 ที่ใช้ในการแข่งขัน ติดกล้องที่ลำตัว ใช้เป็นเกมส์กีฬา เป็นประเภท 1(ก) แต่ใช้แข่งขันด้วยชุดกล้องไม่ได้ ต้องแข่งแบบมองด้วยตาเปล่าอย่างเดียว เพราะถูกห้ามไว้ ตาม ข้อ 5 (2)(ง)  ครับ แต่ได้รับการยกเว้นว่าไม่เป็นอากาศยานตาม คำนิยามวัตถุที่ไม่เป็นอากาศยาน ตามพรบ.การเดินอากาศ ไว้อยู่ครับ เลยใช้เทียบเคียงกันได้

เครื่องบินติดกล้อง ขนาดไม่เกิน ๒ กก.ถ้าใช้ ในการสร้างรายได้ให้ผู้บิน หรือ For Work/Business ตามเจตนาของกฏที่ออกมา ก็ต้องถูกจัดเป็นประเภท 2 ครับ ยกตัวอย่าง Phantom 4 ใช้รับงานถ่ายภาพ  ก็ต้องขึ้นทะเบียนและทำประกันก่อนทำรับงาน ตาม ข้อ 10 ของประกาศฉบับนี้ 

เห็นความแตกต่างของทั้ง 2 ประเภทมั้ยครับ ผมว่าชัดเจนนะ

เรื่องมีกล้องผู้ที่รับผิดชอบ ของ CAAT เค้าได้กล่าวถึงว่า หน่วยข่าวกรอง ของไทย ได้ให้นิยามว่า ถ้าโดรนมีกล้อง ต้องมีทะเบียนและทำประกันทั้งหมด   ในส่วนตรงนี้  การทำทะเบียน ผมเห็นด้วย ไม่ว่าโดรนจะมีกล้องหรือไม่มีกล้องทุกลำต้องขึ้นทะเบียนครับ แต่ประกาศที่ออกมายังไม่บังคับ 1(ก) ให้ขึ้นทะเบียน  คงต้องแก้ในส่วนนี้ และ แยกน้ำหนักเปลี่ยนเป็น 25 กรัม ถึง 25 กิโลกรัม ตามกฏของ FAA เพื่อเป็นสากลครับ โดรนลำจิ๋วๆ เล็กติดกล้อง ที่น้ำหนักไม่ถึง 25 กรัมจะได้ไม่ต้องทำทะเบียน ลองดูตัวอย่างโดรนที่ต้องทำกับไม่ต้องทำครับ http://www.faa.gov/uas/getting_started/fly_for_fun/media/UAS_Weights_Registration.pdf

การขึ้นทะเบียน ก็ทำให้ง่ายต่อผู้ใช้งาน  กรณีน้ำหนัก ไม่เกิน 25 กิโลกรัม ให้สามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์  โดยคิดค่าธรรมเนียม 200-300 บาท ต่อ 3 ปี ตามแบบ ของ FAA ก็ได้ครับ   ใช้ email บัตรเครดิต/เดบิต เลขบัตรประชาชน/พาสปอต ภูมิลำเนาและที่อยู่จัดส่งเอกสาร ในการยืนยันขอเลขทะเบียน   และก็นำเลขทะเบียนไปติดเครื่องของตน ตามตัวอย่างครับhttp://www.faa.gov/uas/getting_started/fly_for_fun/media/UAS_how_to_label_Infographic.pdf 

แค่นี้ก็ตรวจสอบได้แล้ว ว่าโดรนลำไหนมีทะเบียนไม่มีทะเบียน  ใครเป็นผู้ใช้ ง่ายและสะดวกครับ คนไทยทำได้ นักท่องเที่ยวก็ทำได้  เป็นระบบด้วยครับ

เรื่องการทำประกัน ถ้าเป็นประเภท 1(ก) หรือ For Fun ผมไม่เห็นด้วยครับ มีแค่ทะเบียนพอแล้ว  ที่หน่วยข่าวกรองห่วงเรื่องความมั่นคง ข้อห้ามใน  1 (ก) มีเขียนครอบคลุมไว้หมดแล้วครับ ถ้าเจอก็ดำเนินคดีได้ ไม่เกี่ยวกับมีประกันหรือไม่มีเลย การทำประกันคือการคุ้มครอง บุคคลที่ 3 โดรนที่น้ำหนักไม่ถึง 2 กก. ทำให้เกิดความเสียหายน้อยมากครับ 1(ก) เลยไม่ระบุไว้ในประกาศ

ผมยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ นะครับ  สองตัวอย่างตัวละครเดียวกันต่างกันที่การกฏบังคับใช้
ครอบครัวนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษเดินทางมาไทย   ที่เกาะภูเก็ต  บินตรงภูเก็ต-อังกฤษ เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์   เค้าซื้อหรือนำ Phantom4 มาที่เมืองไทย เพื่อต้องการเก็บบรรยากาศ การท่องเที่ยวของครอบครัวเค้า   เมื่อเค้าซื้อเสร็จหรือนำเข้ามาแล้ว เค้าไม่ได้ขึ้นทะเบียน ที่กรุงเทพ หาเว็บไซต์ขึ้นทะเบียนก็ไม่มี และไม่ได้ทำประกัน เพราะเค้าอยู่แค่ 2 สัปดาห์ เจตนาของเค้า คือ For Fun ตาม FAA ที่เค้าคุ้นเคย เมื่อ เจ้าหน้าที่หรือชาวภูเก็ตเห็น นักท่องเที่ยวดังกล่าว กำลังบิน PT4 ชี้ให้เจ้าหน้าที่จับกุม เพราะเป็นโดรนมีกล้อง ประเภท 2  ตามที่ตีความ    ถามว่าผลที่ตามคือเกิดอะไรขึ้นครับ ?  เป็นปัญหาระดับประเทศ ประกาศของไทย ไม่เป็นสากล สื่อตีข่าวไปทั่วโลก ว่าไทยจับนักท่องเที่ยวอังกฤษ ที่ใช้โดรนถ่ายภาพครอบครัว For Fun ในข้อ หา For Work/Business  เห็นภาพมั้ยครับ?

ตัวอย่างเดียวกัน ครอบครัวนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษเดินทางมาไทย   ที่เกาะภูเก็ต  บินตรงภูเก็ต-อังกฤษ เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์   เค้าซื้อหรือนำ Phantom4 มาที่เมืองไทย เพื่อต้องการเก็บบรรยากาศ การท่องเที่ยวของครอบครัวเค้า   เมื่อเค้าซื้อเสร็จหรือนำเข้ามาแล้ว เค้าขึ้นทะเบียนผ่านเว็บไซต์ เพราะเค้าอยู่แค่ 2 สัปดาห์ เจตนาของเค้า คือ For Fun ตาม FAA ที่เค้าคุ้นเคย เมื่อ เจ้าหน้าที่ หรือชาวภูเก็ดเห็น นักท่องเที่ยวดังกล่าว กำลังบิน PT4 ชี้ให้เจ้าหน้าที่จับกุม เมื่อตรวจสอบแล้วมีการลงทะเบียนถูกต้อง และพฤติการณ์ของผู้ใช้ คือ For Fun ก็เป็นเรื่องปกติ ไม่มีปัญหาใดๆครับ

อีกตัวอย่างหนึ่งเพื่อให้มั่นใจว่าเข้าใจจริงๆ

เด็กชายต่างจังหวัดวัย 14 ปี ซื้อโดรนติดกล้องในราคา 2000 บาท ตามตลาดนัด มาเพื่อหัดบินในสวนหลังบ้าน (For Fun) เค้าไม่ได้ขึ้นทะเบียนและทำประกัน เนื่องจากไม่เคยเข้ากรุงเทพและค่าทำประกัน ก็ราคาเกินกว่า 2000 บาทแล้ว  เค้าถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินคดี ข้อหาใช้โดรนมีกล้อง ประเภท 2 (For work)  คุณคิดว่า สังคมจะรับได้ และมองเจ้าหน้าที่เป็นอย่างไรครับ  ประกาศเมื่อออกมาแล้ว ถ้าตีความแบบนี้ ต้องทำตาม ถ้าไม่ทำ ผิดละเว้นการปฏิบัติหน้าที่  ถ้าทำ นอกจากโดนสังคมรุมตำหนิแล้วยังเสี่ยงต่อการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบอีก ถ้าศาลไม่เห็นด้วยกับการตีความของเจ้าหน้าที่

ตัวอย่างเดียวกัน เด็กชายต่างจังหวัดวัย 14 ปี ซื้อโดรนติดกล้องในราคา 2000 บาท ตามตลาดนัด มาเพื่อหัดบินในสวนหลังบ้าน (For Fun) เค้าขึ้นทะเบียนผ่านเว็บไซต์ เสียค่าใช้จ่าย 200 บาท  เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจพบ เห็นว่ามีทะเบียน ก็ไม่มีปัญหาอย่างไร

เห็นมั้ยครับ อะไรคือการใช้กฏหมายที่เหมาะที่ควรกว่ากัน ลองพิจารณาดูนะครับ

การทำอะไรซักอย่าง เราต้องมองให้ครบ สามเสาครับ เสาเศรษฐกิจ เสาความมั่นคง และเสาสังคมวัฒนธรรม ครับ
ในเรื่องนี้ 
เสาเศรษฐกิจ ผู้ขายได้เงินจากขายสินค้า ผู้ซื้อได้เงินจากการนำไปรับงาน ประกันได้เงินจากผู้รับงาน 
เสาความมั่นคง  เครื่องทุกลำลงทะเบียน ตรวจหาผู้ใช้ได้ ข้อห้ามบินในสถานที่ต่างๆ
เสาสังคมวัฒนธรรม  ผู้ซือมาเล่น เป็นงานอดิเรก ความบันเทิงและแข่งขัน ไม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเรื่องประกัน นำมาพัฒนาต่อยอด เกิดนักบินโดรนหน้าใหม่ อีกทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวไปในตัว 

ถ้าตอบโจทย์ทั้งสามเสา นั่นคือ การบังคับใช้กฏหมายที่ดีมากครับ

ลองพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกันครับ ผิดพลาดประการใด โต้แย้งกันครับ

ผมเริ่มตาลายแล้ว ยาวมากกกก^,^

หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกท่านนะครับ 

สวัสดีครับ

SkyCop


ความคิดเห็น

  1. พึ่งไปลงทะเบียนที่กรมท่าอากาศยานงามดูพลี วันที่26/9/16 เอามาถ่ายบรรยากาศออกทริปกับกลุ่มเพื่อน
    โดรนมีกล้อง น้ำหนักไม่เกิน2กิโล For Fun ซื้อมา1,900 ค่าทำประกันประมาณ3-4 พัน เจ้าหน้าที่อากาศยานบอกว่าต้องมีประกันเท่านั้น ตอนนี้เจ้าหน้าที่รับเรื่องไว้เฉยๆ 3วันแล้วคะ (ตอนไปยื่นลงทะเบียน ไม่มีใครไปเลย มีแค่เราคนเดียว) รอ รอ รอ

    เลยโทรไปหาบริษัทประกันชื่อดัง 3บริษัท เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่มีประเภทนี้นะ (เอ๋อเลยคะตอนนี้มืด8ด้านละ)
    โดรนติดอยู่ที่ศุลกากร จะครบอาทิตย์ละคะ ต้องเสียค่าเช่าที่อีก

    รบกวนชี้เป้าบริษัทประกันให้หน่อยคะ
    arpakorn.p@gmail.com

    ตอบลบ
  2. บทความนี้มีประโยชน์มากๆ ครับ

    ตอบลบ
  3. เห็นด้วยทุกประการ

    ตอบลบ
  4. เห็นด้วยอย่างมากสุดครับ ซื้อโดรนมาบินเล่นกับลูกๆ บินก็ไม่ได้สูง ส่วนมากเซลฟี่กันในครอบครัวหรือเวลาไปเที่ยวก็หามุมสวยๆเซลฟี่กันไม่ได้ไปบินถ่ายที่มีคนหมู่มาก ที่สำคัญไม่ได้ขึ้นบินทุกวัน นานๆจะบินสักที โดรนน้ำหนักแค่ 3 ขีด ถ้าให้ลงทะเบียนก็ยินดี แต่ไม่เห็นด้วยที่ต้องให้ทำประกัน เราไม่ได้นำไปใช้ที่คนมากและไม้ได้ใช้ทุกวัน ใช้ในครอบครัวเป็นงานอดิเรก เพื่อความสนุกสนานเท่านั้น

    ตอบลบ
  5. ออกกฏหมายแบบไม่มีอะไรรองรับ จะไม่ให้บินเลยก็พูดมาตรงๆ

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

"ทางไปสู่เกียรติศักดิ์ จักประดับดอกไม้ หอมยวลชวนจิตไซร้ ไป่มี"

ความในใจของลูกผู้ชายคนนึง

อีกก้าวของความสำเร็จในชีวิตตำรวจ กับตำแหน่ง"สารวัตร"